1. MAN
ประเด็นแรกสุดคือ เรื่องคน องค์ประกอบหลักที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จในการขึ้นระบบ ERP คือ คน คนเรามักจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง และมักจะต่อต้านสิ่งใหม่ๆ อาการต่อต้านอย่างนี้มีตั้งแต่เล็กๆน้อยๆ เช่น การบ่น หรือไปถึงใหญ่ๆ แบบไม่ยอมใช้โปรแกรมกันเลยทีเดียว ซึ่งก็มีได้หลายสาเหตุ
กลัวตกงาน อันนี้พบได้บ่อยๆเลย โดยเฉพาะองค์กรที่ใช้การจัดการข้อมูลแบบ Manual หรือต้องใช้คนทำงานเยอะๆ เพราะถ้ามีระบบมาช่วยเก็บข้อมูลแล้วจะไม่จำเป็นต้องจ้างคนเยอะๆอีก บางครั้งผู้บริหารเองที่คิดแบบนี้จริงๆก็มี อันนี้ผู้บริหารคงต้องสื่อสารออกมาให้ชัดเจนเช่นกันว่าเอาเครื่องมือนี้มาแล้วคนที่ทำงานอยู่จะได้รับผลกระทบอย่างไร
กลัวถูกลดความสำคัญลง อันนี้จะเจอได้กับทุกองค์กร และเป็นได้หลากหลายรูปแบบ เช่นเดิมใช้โปรแกรม ERP ตัวนึงแล้วจะเปลี่ยนมาเป็นอีกตัว คนที่ดูแลระบบเดิมก็ย่อมจะต่อต้าน หรือบางครั้ง คนต่อต้านอาจจะเป็น user เองเลยก็ได้เนื่องจากมีความเคยชินกับโปรแกรมเดิมๆ
กลัวลำบาก อันนี้มักจะเจอกับองค์กรที่การจัดการงานยังไม่เป็นระบบ เนื่องจากเดิมแต่ละแผนกทำข้อมูลหรือสนใจเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับงานในแผนกของตน เมื่อมาใช้โปรแกรม ERP การทำงานของแต่ละแผนกจะถูกส่งต่อไปยังแผนกที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น ข้อมูลผู้ขาย จะเดิมฝ่ายจัดซื้อสนใจเฉพาะข้อมูลชื่อ-ที่อยู้ผู้ขาย ระยะเวลาส่งมอบ และราคา แต่เมื่อมาใช้โปรแกรมจะทำให้การสร้างผู้ขายรายใหม่จะต้องกำหนดข้อมูลที่มากขึ้นโดยข้อมูลนั้นไม่ได้ใช้ในแผนกตนแต่ใช้ที่แผนกอื่น อย่างแผนกบัญชี เช่น ข้อมูลเลขที่ผู้เสียภาษี กลุ่มผู้ขาย(ซึ่งจะไปสำพันธ์การการตั้งบันทึกหนี้) เป็นต้น บางครั้งเรื่องพวกนี้กลายเป็นปัญหาภายในองค์กรไปซะอีก แทนที่ ERP จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา แต่กลับมาช่วยสร้างปัญหาเพิ่มซะนี่
นี่เป็นตัวอย่างอาการต่อต้านที่มาจากความกลัวของคนในองค์กร ในขณะเดียวกันบางครั้งอาการต่อต้านก็มาจากสาเหตุอื่นๆได้อีก
อยากสบาย ปกติแล้วแทบทุกคนเมื่อพูดถึง ERP แล้วย่อมเข้าใจมันคือระบบที่รวมการจัดการด้านต่างๆเข้าด้วยกัน ซึ่งจะช่วยลดการทำงานคีย์ข้อมูลซ้ำๆลง ซึ่งถูกเพียงครึ่งเดียวคือจะช่วยลดงานคีย์ซ้ำเฉพาะงานในแผนกต่อเนื่อง ในขณะที่งานที่เป็นต้นทางอาจจะไม่ลดลง รวมถึงการที่คนในองค์กรคาดหวังว่าเมื่อนำโปรแกรมมาใช้งานแล้วจะทำให้เค้าทำงานเร็วขึ้น โดยส่วนใหญ่แล้ว การลดเวลาในการทำงานลง มักจะไม่ค่อยเห็นผลได้ชัดเจนในช่วงต้น ซ้ำร้ายในบางครั้งการนำ ERP มาใช้จะเพิ่มเวลาการทำงานมากขึ้นอีก เพราะผู้ใช้งานจะต้องเสียเวลาส่วนนึงในการเรียนรู้การทำงานบน ERP รวมถึงทำความเคยชินกับโปรแกรม หรือโดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วง pararell run ที่ต้องทำการทดสอบโปรแกรมใหม่ ควบคู่กับการทำงานแบบเดิม ที่เป็นจุดที่ทำให้การขึ้นระบบล้มเหลวหลายๆแห่ง เนื่องจาก user ไม่คีย์ข้อมูลเข้าโปรแกรมใหม่ ทั้งไม่อยากคีย์ หรือคีย์ไม่ครบถ้วน คีย์ไม่ทันเพราะงานประจำก็ล้นมืออยู่แล้ว
ไม่ตอบสนองความต้องการ แต่ละองค์กรย่อมมีรูปแบบธุรกิจที่แตกต่างกัน โปรแกรม ERP สำเร็จรูปเป็นโปรแกรมที่เขียนมาเป็นมาตราฐาน ซึ่งจะไม่ตอบสนองทุกความต้องการของผู้ใช้งานได้ บางครั้งก็ต้องพัฒนาโปรแกรมเพิ่มเติม (Customize) บางครั้งก็ต้องเปลี่ยนแนวทางหรือวิธีการทำงาน เมื่อต้องเปลี่ยนปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน บางครั้งผมเคยได้ยิน user มีการตกลงกันก่อนที่จะคุยกับ consult ด้วยซ้ำว่า เราต้องพยามยามไม่ให้เค้าปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานเรา สำหรับประเด็นนี้ก็ไม่มีใครถูกใครผิดหรอกครับ เพียงแต่การ Customize มักจะนำมาสู่ค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม รวมถึงเวลาที่ต้องยืดยาวขึ้นเล็กน้อยสำหรับการทดสอบโปรแกรม
เริ่มง่วงละ คืนนี้ขอราตรีสวัสดิ์กันแค่นี้ก่อน ส่วนสาเหตุ ปัญหา หรือ ความเสี่ยงอื่นๆที่จะทำให้การขึ้นระบบล้มเหลวจะมาคุยกันต่อกันวันหน้านะครับ (ยังเหลือส่วนของ Machine/ Money/ Management)