วันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

คำถามสีม่วงกับW.I.P

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้ -  อวยพรกันก่อนตามธรรมเนียมคนไทยเชื้อสายจีนนะครับ สำหรับวันนี้จะมาบ่นกันเรื่อง W.I.P (Work in process) นะครับ เคยมีคนถามผมว่า W.I.P คืออะไร ถ้าแปลตามตัวตรงๆก็คืองานระหว่างทำ จริงๆแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรผิดปกติให้ต้องสงสัยหรือสับสนนะ แต่บังเอิญว่าหลายๆที่ดันเรียกงานระหว่างทำนี้ครอบคลุมไปถึงสินค้าระหว่างผลิต/สินค้ากึ่งสำเร็จรูปด้วยนี่สิ เลยเป็นที่มาของบ่นความประจำวันนี้

ใช่แล้วครับ คนที่ถามผมเป็นนักบัญชีครับ ซึ่งด้วยสาเหตุที่ผังบัญชีที่เค้าใช้อยู่มีแค่ วัตถุดิบ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูปเท่านั้น จึงเกิดคำถามนี้ขึ้นมาระหว่างที่เข้าไปเก็บข้อมูล จริงๆแล้วมันก็ไม่ได้ผิดอะไรหรอกนะครับ ถ้ากระบวนการผลิตของคุณไม่มีความซับซ้อนของลำดับชั้นการผลิตมากมาย แต่ในกรณีที่คุณอยากให้ผังบัญชีของคุณแสดงความเคลื่อนไหวของกระบวนการผลิตในโรงงานของคุณ รวมถึงยังใช้ควบคุม ตรวจสอบการทำงานของฝ่ายผลิต บางครั้งคุณก็ต้องปรับเปลี่ยนผังบัญชีให้ละเอียดขึ้น หรือปรับเปลี่ยนมุมมองนิดนึง


มันจะดีขนาดไหน ถ้าบัญชีเปิดโปรแกรมแล้วสามารถรู้ได้ว่า ขณะนี้มีงานค้างอยู่กระบวนการผลิตมากน้อยแค่ไหน หรือ จะยิ่งดีขนาดไหน ถ้าผู้บริหารเปิดคอมมาแล้วรู้ว่าตอนนี้โรงงานมีสินค้าอยู่ในสต๊อคจำนวนเท่าไหร่ หรือสินค้ากึ่งสำเร็จรูปพร้อมขายเท่าไร แต่ด้วยเทคโนโลยี รวมถึงโปรแกรมบัญชีแต่เดิม มันไม่สามารถรองรับการทำงานบันทึกบัญชีแบบ Perpetual ซักเท่าไร ทำให้เมื่อคุณต้องการที่จะปิดบัญชีแต่ละเดือน ยิ่งถ้าผู้บริหารต้องการข้อมูลละเอียดๆเท่าไร บัญชีก็ยิ่งจะมีงานเยอะเท่านั้น เคยมีบางบริษัทแผนกบัญชีมีพนักงานบัญชีถึง 30 คน และใช้เวลาในการปิดบัญชีนานกว่า 15 วัน เรียกได้ว่ากว่าจะรู้งบเดือนที่แล้ว ก็ต้องรอกันจนเกือบจะถึงสิ้นเดือนนี้กันเลยทีเดียว ด้วยเหตุผลยุ่งยากอย่างที่ว่านี่แหละครับเลยทำให้หลายที่มีแค่บัญชี วัตถุดิบ งานระหว่างทำ และสินค้าสำเร็จรูปเท่านั้น

"ในเมื่อเรามีเครื่องมือที่ดีกว่าเดิม เราก็ควรจะใช้มันให้คุ้มค่า"

กลับมาที่หัวข้อของเราอีกครั้ง เมื่อคุณใช้ ERPแล้วผมไม่แนะนำให้คุณทำบัญชีสต๊อค 3 กลุ่มแล้วนะครับ ในเมื่อเรามีเครื่องมือที่ดีกว่าเดิม เราก็ควรจะใช้มันให้คุ้มค่าสิครับ ปกติแล้วผมจะให้แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

1 วัตถุดิบ - มูลค่าวัตถุดิบที่เราซื้อมา
2 งานระหว่างทำ - มูลค่าวัตถุดิบ ค่าแรง และค่าใช้จ่ายอื่นๆระหว่างผลิต
3 สินค้ากึ่งสำเร็จรูป - สินค้าที่ผลิตเองรอนำไปผลิตต่อ
4 สินค้าสำเร็จรูป - สินค้าผลิตเสร็จพร้อมขาย

โดยบัญชีงานระหว่างทำจะใช้เป็นบัญชีพักเมื่อมีการเบิกวัตถุดิบไปทำการผลิต และมีเมื่อผลิตออกจากเครื่องจักรในแต่ละขั้นตอนถ้ามีการบันทึกรับ นับจำนวนสต๊อค จะถืองานพวกนั้นเป็นสินค้าระหว่างผลิต/สินค้ากึ่งสำเร็จรูปนะครับ รอจนกว่าจะมีการเบิกไปผลิตต่อไป เมื่อมีการเบิกไปผลิตก็จะถูกนำไปบันทึกเข้าบัญชีงานระหว่างทำW.I.P.อีกครั้ง ตัวอย่างเช่นเราจะทำการผลิตชอร์คสีม่วงนะครับ วัตถุดิบคือ ผงแป้ง,สีน้ำสีแดง,สีน้ำสีน้ำเงิน และกระบวนการผลิตให้เป็น 2 ขั้นตอนคือนำวัตถุดิบไปปั่น และนำเข้าเครื่องอัดแท่งนะครับ

เบิกวัตถุดิบเข้าถังปั่น ลงบัญชีดังนี้
Dr. งานระหว่าง W.I.P
  Cr. วัตถุดิบ


บันทึกรับผงชอร์ค ลงบัญชีดังนี้
Dr. สินค้าระหว่างผลิต Semi-Product
  Cr.งานระหว่าง W.I.P


เบิกผงชอร์คเข้าเครื่องอัดแท่ง ลงบัญชีดังนี้
Dr. งานระหว่าง W.I.P(2)
  Cr. สินค้าระหว่างผลิต Semi-Product


บันทึกรับชอร์คแท่ง ลงบัญชีดังนี้
Dr. สินค้าสำเร็จรูป
  Cr.งานระหว่าง W.I.P(2)

* WIP กับ WIP(2) จะเป็นบัญชีเดียวกันหรือคนละอันกันก็ขึ้นอยู่กะมุมมอง นโยบายของแต่ละที่ละนะครับ

จากตัวอย่างที่ผมยกมาให้นี้หวังว่าจะทำให้ทุกท่านเข้าใจข้อแตกต่าง ข้อดี/ข้อเสีย ของการแยกบัญชีออกมาเป็น 4 กลุ่มมากขึ้นนะครับ ทีนี้ขอวกกลับมายกที่มาของคำถามอันเป็นหัวข้อบ่นความนี้อีกครั้งครับ ปัญหามันมีอยู่ว่า ไอ้สีน้ำสีแดง กับสีน้ำสีน้ำเงินหน่ะเป้นวัตถุดิบแน่นอน แต่เมื่อจะผลิตเค้าจะต้องผสมสีเองก่อนล่วงหน้า 1 วัน ครั้นจะไปซื้อสีน้ำสีม่วงก็ไม่มีขาย ทีนี้จะถือว่ามันเป็นสินค้าระหว่างผลิตมั้ย ในเมื่อเค้าผลิตสีม่วงขึ้นมาเองไม่ได้ซื้อมา ผมก็บอกว่าในกรณีนี้เมื่อสีผสมเสร็จแล้วก็ยังคงเป็นวัตถุดิบ ก็ในเมื่อมันไม่ได้เป็นสินค้าที่เค้าจะขาย ก็เค้าจะขายชอร์คนี่ ไม่ได้ขายสี ดังนั้นในกรณีนี้เมื่อผสมเสร็จ ก็ยังคงเป็นวัตถุดิบครับ  ตอบเสร็จเป็นเรื่องเลย เค้าหาว่าผมกลับกลอก พูดกลับไปกลับมา!!! ในเมื่อก่อนนี้ผมบอกเอาไปผลิตออกมาแล้วต้องเป็นงานสินค้าระหว่างผลิต O_o โอ้ว!!  ช๊อคครับช๊อค ต้องบอกว่าเป็นเหตุการณ์น่าตกใจที่สุดในชีวิตผมครั้งนึงเลยทีเดียว


หมายเหตุ. ตัวอย่างที่ผมยกขึ้นมาเรื่องผลิตชอร์คนี่เป็นเรื่องสมมุตินะครับ แต่คำถามเรื่องสีม่วงคืออะไร นี่เรื่องจริงครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น